การคำนวณวันสงกรานต์

ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์ จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้
  • ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก
  • เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก
จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร
จากผลที่ได้ ถ้าหารแบบสมัยใหม่โดยติดทศนิยม จะได้ว่าส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม นับ 0 ที่วันแรกของ จ.ศ. 0 ส่วนที่เป็นทศนิยม เป็นเศษส่วนของวันนับจาก 0 นาฬิกาของวันเถลิงศกไปหาเวลาเถลิงศก แต่ในสมัยโบราณการคำนวณด้วยทศนิยมเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ถ้าหารแบบติดเศษ แล้วเอาส่วนที่เป็นจำนวนเต็มบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศก ส่วนที่เป็นเศษนั้นบอกถึงเวลานับแต่ 0 นาฬิกาไปหาเวลาเถลิงศกในหน่วยกัมมัช หากเอาไปหักลบออกจาก 800 ก็จะได้กัมมัชพลเถลิงศก หรือเวลาเป็นกัมมัชที่เหลือจนสิ้นวันเถลิงศก
เนื่องจากวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 เวลา 00:00 น. มีหรคุณจูเลียนเป็น 1954167.5 เพื่อความง่ายจึงสามารถหาหรคุณจูเลียน (Julian day number) ของวันเถลิงศกได้ตามสูตร
JD วันเถลิงศก = [(292207* (พ.ศ.-1181) + 373)/800] + 1954167.5
สำหรับวันมหาสงกรานต์ สามารถประมาณได้จากหรคุณเถลิงศก โดยให้ถอยหรคุณเถลิงศกไป 2 วัน 3 ชั่วโมง 57 นาที 36 วินาที (2.165 วัน หรือ 1732 กัมมัช) หรืออาจจะคำนวณตำแหน่งที่สังเกตได้จริง (สมผุส) ของดวงอาทิตย์ว่าย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ณ วันเวลาใด ทำให้ได้สูตรหาหรคุณจูเลียนของวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) เป็น
JD วันมหาสงกรานต์ = [(292207* (พ.ศ.-1181) - 1359)/800] + 1954167.5

ตารางต่อไปนี้เป็นวันมหาสงกรานต์และวันเถลิงศกของปีนี้ ปีก่อนหน้าห้าปี และปีถัดไปอีกห้าปี สังเกตว่าบางปีจะมีเทศกาลสงกรานต์ตามที่คำนวณได้อยู่ทั้งหมดสี่วัน

ตารางวันมหาสงกรานต์

ตารางแสดงวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) และนางสงกรานต์ในแต่ละปี
พ.ศ. จ.ศ. วัน ที่ เดือน เวลา นามนางสงกรานต์ ท่านางสงกรานต์
นาฬิกา นาที วินาที
2552 1371 อังคาร 14 เมษายน 01 08 24 โคราคเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2553 1372 พุธ 14 เมษายน 07 21 00 มณฑาเทวี เสด็จยืน
2554 1373 พฤหัสบดี 14 เมษายน 13 33 36 กิริณีเทวี เสด็จนั่ง
2555 1374 ศุกร์ 13 เมษายน 19 46 12 กิมิทาเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร
2556 1375 อาทิตย์ 14 เมษายน 01 58 48 มโหธรเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2557 1376 จันทร์ 14 เมษายน 08 11 24 โคราคเทวี เสด็จยืน
2558 1377 อังคาร 14 เมษายน 14 24 00 รากษสเทวี เสด็จนั่ง
2559 1378 พุธ 13 เมษายน 20 36 36 มณฑาเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร
2560 1379 ศุกร์ 14 เมษายน 02 49 12 กิริณีเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2561 1380 เสาร์ 14 เมษายน 09 01 48 มโหธรเทวี เสด็จยืน
2562 1381 อาทิตย์ 14 เมษายน 15 14 24 ทุงษเทวี เสด็จนั่ง

ตารางวันเถลิงศก

ตารางแสดงวันเถลิงศกในแต่ละปี
พ.ศ. จ.ศ. วัน ที่ เดือน เวลา
นาฬิกา นาที วินาที
2552 1371 พฤหัสบดี 16 เมษายน 05 06 00
2553 1372 ศุกร์ 16 เมษายน 11 18 36
2554 1373 เสาร์ 16 เมษายน 17 31 12
2555 1374 อาทิตย์ 15 เมษายน 23 43 48
2556 1375 อังคาร 16 เมษายน 05 56 24
2557 1376 พุธ 16 เมษายน 12 09 00
2558 1377 พฤหัสบดี 16 เมษายน 18 21 36
2559 1378 เสาร์ 16 เมษายน 00 34 12
2560 1379 อาทิตย์ 16 เมษายน 06 46 48
2561 1380 จันทร์ 16 เมษายน 12 59 24
2562 1381 อังคาร 16 เมษายน 19 12 00
อนึ่ง วันในสัปดาห์ที่แสดงในตาราง จะยึดการเปลี่ยนวันแบบสุริยคติเป็นหลัก คือเปลี่ยนวันที่เวลา 0 นาฬิกา เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ แต่การกำหนดว่านางสงกรานต์องค์ใดจะเสด็จ (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ ตำนานนางสงกรานต์) ต้องยึดการเปลี่ยนวันตามแบบจันทรคติ คือเปลี่ยนที่เวลารุ่งสาง (6 นาฬิกา) เสมอ

ตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. 2556 วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เวลา 01:58:48 น. ตามสุริยคติถือว่าเข้าวันใหม่คือวันอาทิตย์แล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ถึงรุ่งสาง ทางจันทรคติจึงถือว่ายังเป็นวันเสาร์อยู่ เพราะฉะนั้น นางสงกรานต์จึงเป็นนางมโหธรเทวี ไม่ใช่นางทุงษะเทวีแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น